BX.in.th Bitcoin Exchange Thailand

31 กรกฎาคม 2556

คิดแบบ วอร์เรน บัฟเฟต

คิดแบบ วอร์เรน บัฟเฟต
-------------------------

ทีมจัดการกองทุนบัวหลวง โดย กร ดุรงคเวโรจน์ / วรวรรณ ธาราภูมิ 31 กรกฎาคม 2556
มีหนังสือนับไม่ถ้วนที่เขียนถึง ลุงวอร์เรน บัฟเฟต ไม่ว่าจะเป็นสไตล์การลงทุน หรือพยายามจะบอกคนอ่านว่า ลุงบัฟเฟต คิดอะไร และซื้อกิจการตัวไหนเพราะอะไร 
แต่ผมว่าหนังสือ “The Warren Buffet Portfolio” ที่เขียนโดย Robert G. Hagstrom และตีพิมพ์ในปี 1999 ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า “ลุงบัฟเฟต คิดอะไรเวลาลงทุน” ทั้งยังรวบรวมคำแนะนำเพื่อการลงทุนอย่างเน้นคุณค่าตามแบบฉบับของ Buffetology

ผมขอสรุปมาสั้นๆ เพื่อให้เราที่ไม่ใช่นักอ่านตัวยงพอเอาไปใช้ประโยชน์นะครับ
ทั้งนี้ อ่านแล้วอย่าแค่บอกว่า “อืม .... อ่าฮะ ... ” แล้วก็ลืมไปเลย ขอให้ลองเปรียบเทียบกับตัวเราเองว่ามีอะไรเหมือนหรือ ต่างกับ ลุงบัฟเฟต ตรงไหนเวลาเราตัดสินใจลงทุน

1. เห็นหุ้นเหมือนเราเป็นเจ้าของกิจการ
---------------------------------------
นักลงทุนส่วนใหญ่เห็นหุ้นและตลาดหุ้นเป็นเพียงกระดาษที่ถูกซื้อขายไปมา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีในแง่ที่ทำให้นักลงทุนไม่ผูกพันทางอารมณ์กับการลงทุนมากเกินไปจนกระทบการตัดสินใจซื้อขาย แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็เป็นการบดบังการตัดสินใจที่ดีที่สุดเพื่อการลงทุนในระยะยาว 

ลุงบัฟเฟต เชื่อว่า ผู้ถือหุ้นทุกคนไม่ว่าจะถือหุ้นมากน้อยเพียงใด ล้วนควรจะคิดว่าตนเองเป็นเจ้าของกิจการของหุ้นที่ลงทุน เนื่องจากจะทำให้เรามองภาพรวมในระยะยาวได้อยู่เสมอ ไม่หวั่นไหวตื่นตูมไปกับอะไรที่เกิดขึ้นในระยะสั้นๆ เพราะผู้ลงทุนระยะยาวมีแนวโน้มที่จะวิเคราะห์บริษัทและใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ ของกิจการที่ตนลงทุน ทำให้เข้าใจธุรกิจได้ดีกว่าผู้ลงทุนระยะสั้น และความเข้าใจกับความอดทนมักจะนำไปสู่ผลตอบแทนดีๆ ในระยะยาวที่ยั่งยืนกว่า

2. กล้าลงทุนหากมีความมั่นใจในหุ้นตัวนั้นๆ
--------------------------------------------
แม้ว่าการลงเงินในหลักทรัพย์น้อยตัวเป็นเหมือนข้อห้ามใน Textbook ตามทฤษฎีลงทุนที่เรียนๆ กันมาใน MBA เพราะเป็นการไม่กระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง หรือที่เรียกว่าไม่ Diversify 

ลุงบัฟเฟต เชื่อว่า การลงทุนในหลักทรัพย์หลายตัวเกินไปเป็นผลเสีย เพราะการกระจายการลงทุนมากจนเกินไปเพื่อลดความเสี่ยงจะทำให้ได้ผลตอบแทนน้อยกว่าที่ควรจะได้ ลุงบัฟเฟต เชื่ออย่างแรงกล้าว่านักลงทุนต้องทำการบ้านเกี่ยวกับธุรกิจก่อนที่จะลงทุน และเมื่อมั่นใจในธุรกิจแล้ว นักลงทุนต้องมั่นในในการตัดสินของตนและลงทุนในสัดส่วนที่ใจกล้าพอ 

ตรงนี้คล้ายๆ กับที่พี่ตู่ CEO และพี่เคี้ยว CIO ของกองทุนบัวหลวง ที่บอกเสมอว่า “หากเจอแล้วว่าตัวไหนดีจริงๆ เชื่อมั่นจริงๆ แล้วทำไมจะต้องแบ่งเงินไปลงทุนในตัวที่เราเชื่อมั่นน้อยเพื่อลดความเสี่ยงไปตามทฤษฎีการลงทุนที่เรียนกันมาล่ะ เพราะหากเชื่อมั่นน้อย นั่นละคือความเสี่ยงสูง ไม่ใช่หรือ”

3. ลดความถี่ในการซื้อขาย
----------------------------
จริงอยู่ที่การซื้อๆ ขายๆ บ่อยๆ ทำให้นักลงทุนบางคนได้กำไรมากในช่วงเวลาสั้นๆ แต่หลายคนที่ลองทำมั่งกลับไม่ได้เหมือนเขา แถมยังมักจะตรงกันข้ามเรื่องนี้ ลุงบัฟเฟต ไม่เห็นด้วยเลยกับการเทรดระยะสั้นๆ และไม่เห็นด้วยเลยในตลอดชีวิตการลงทุนของเขา ลุงบัฟเฟต เชื่อว่า ผู้ลงทุนควรถือหุ้นของบริษัทในดวงใจไว้เสมอ ไม่มากก็น้อย และถือหุ้นด้วยความคิดที่ว่าเขาเป็นเจ้าของกิจการคนหนึ่งที่มองอนาคตของธุรกิจในระยะยาวอยู่เสมอ และสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้ลงทุนมองข้ามความผันผวนเล็กน้อยในระยะสั้นไปได้ 

4. พัฒนา Benchmark ของตัวเอง
-----------------------------------
ผู้ลงทุนส่วนมากจะมองว่าราคาหุ้นเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการลงทุน แต่ ลุงบัฟเฟต ไม่ได้มองอย่างนั้น
เขาไม่ได้วัดความสำเร็จในการลงทุนจากราคาหุ้นที่ขึ้นลงแต่เพียงอย่างเดียว ลุงบัฟเฟต ใช้ความสำเร็จของธุรกิจที่เขาลงทุน
เป็นตัวชี้วัด เพราะเชื่อว่าหากตัวธุรกิจทำได้ดีแล้ว ราคาหุ้นก็จะสะท้อนความสำเร็จได้เองในระยะต่อไป

5. เข้าใจจิตวิทยาของการลงทุน
---------------------------------
ลุงบัฟเฟต เชื่อว่าความพยายามศึกษาให้เข้าใจจิตวิทยาของการลงทุนไม่ใช่กุญแจสู่ความสำเร็จของผู้ลงทุนทุกคน และไม่ได้มีผลต่อความสำเร็จของการลงทุนระยะยาว การควบคุมอารมณ์ที่ดีต่างหากที่เป็นกุญแจของความสำเร็จ ซึ่งก็คือ “การเชื่อในพื้นฐานที่แท้จริงของธุรกิจของหุ้นตัวที่เราถือ และอย่าไปกังวลมากกับจิตวิทยาหรือพฤติกรรมในตลาดหุ้น”

6. ไม่ต้องสนใจการคาดการณ์ของตลาด
-----------------------------------------
ลุงบัฟเฟต บอกว่าหากตลาดกังวลว่า Recession กำลังมาถึง ตลาดหุ้นก็จะถึงช่วงวิกฤตอีกครั้ง หากตลาดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะดีมาก ตลาดหุ้นก็จะพุ่งขึ้นไปทำ New High อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่อย่าไปปักใจเชื่อมากนัก ลุงบัฟเฟต ย้ำให้ผู้ลงทุนใช้เวลาที่จะอ่านพยากรณ์เหล่านั้นไปแสวงหาและคัดเลือกหุ้นดีๆ ที่คนยังไม่สนใจจะดีกว่า (ราคาจึงยังไม่สูงเพราะยังไม่ถูกขับเคลื่อนด้วยมูลค่าตลาดมากนัก) เพราะหากเราพบก่อนและลงทุนไว้ เมื่อตลาดเริ่มที่จะเข้าใจคุณค่าที่แท้จริงของหุ้นนั้นเมื่อไหร่ เราก็จะได้รับผลตอบแทนจำนวนมากโดยไม่ต้องไปปวดหัวกับการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นโดยรวมอยู่ตลอดเวลา

7. รอโอกาสที่ชัดเจน
----------------------
นักเบสบอลระดับทอปของวงการมักจะรอเพื่อหวดไม้ให้สุดแรงเฉพาะลูกโยนที่เห็นว่ามีโอกาสตีโดนลูกได้มากเท่านั้น เขาไม่หวังจะตีโฮมรันไปเสียทุกช็อต การลงทุนก็เช่นกันลุงบัฟเฟต แนะนำว่า นักลงทุนควรจะทำเหมือนกับว่าตลอดชีวิตการลงทุน เราสามารถเลือกหุ้นลงทุนได้เพียงแค่ 20 ตัวเท่านั้น เพราะจะทำให้นักลงทุนมีความตั้งใจพิจารณากลั่นกรองสูงกับการลงทุนในแต่ละครั้ง และทำให้ไม่ตัดสินใจอะไรที่ไม่รอบคอบ 

7 ข้อนี่ละครับ ที่เพียงพอแล้วสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ลงทุนที่มีคุณภาพและจะประสบผลสำเร็จ
ไม่ต้องไปจำอะไรมากมาย เราแค่ปุถุชน เพียงศีล 5 ก็ใช้ได้แล้ว (ในกรณีนี้เป็นศีล 7) ไม่ต้องไปจำศีลให้ครบทั้ง 227 ข้อหรอกครับ เพราะเราไม่ใช่พระสักหน่อย

บทความนำผมนำมาจาก Facebook คุณวรวรรณ ธาราภูมิ ส่วนตัวผมเองผมเห็นด้วยกับบทความดังกล่าวผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า คนเราต้องมีแรงบรรดาลใจ หรือ IDOL ให้การทำงานถ้าเราขาดแรงบรรดาลใจคนเราก็จะทำงานเหมือนหุ่นยนต์ พ่อผมสอนไว้ว่า ลูกอย่าได้ทำงานเป็นหุ่นยนต์สิ่งที่สำคัญที่สุดควรมีสัมพันธ์ที่ดีกับตัวบุคคลถ้าลูกมีตรงนี้แล้วไม่ว่าลูกทำงานที่ไหนก็จะมีความสุข ในอาชีพผมที่อยู่กับการเงินผมจริงอยากแชร์ที่สิ่งที่ผมรู้ลง BOX ใบนี้เพื่อให้ BOX ใบนี้คนมาเปิดดูจะได้รับความรู้ที่ดีที่สุดออกไป ซึ่งบทความนี้ผมคิดว่าควรเก็บใส่ BOX ใบนี้เพื่อให้คนต่อไปๆมาเปิด BOX ใบนี้อ่าครับ ^^

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น